Carbon Footprint คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ?

15 ต.ค. 2567

Carbon Footprint คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ?
Carbon Footprint คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ?
Carbon Footprint คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ?

ปัจจุบันความยั่งยืนได้กลายมาเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยเฉพาะแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกรอบ ESG ที่เน้นมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรทั่วโลก เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกโดยอย่างยิ่งกับประเด็นสิ่งแวดล้อม

ซึ่งจะเห็นได้ว่าหนึ่งในเป้าหมายขององค์กรที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานภายใต้กรอบ ESG จะให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการคำนวณ Carbon Footprint ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ และในบทความนี้จะพาไปไขคำตอบว่ากลไกล Carbon Footprint ที่หลายคนพูดถึงกันทุกวันนี้มีความสำคัญอย่างไร และจะมีแนวทางใดบ้างที่จะช่วยลด Carbon Footprint เพื่อนำไปสู่การทำธุรกิจภายใต้กรอบของความยั่งยืนได้

Carbon Footprint คือ

Carbon Footprint คือ

Carbon Footprint คือ ปริมาณของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากบุคคล องค์กร กิจกรรม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยจะคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาในทุกขั้นตอน ตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์หรือบริการ เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตวัตถุดิบ การผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน เพราะตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์อาจมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ออกมา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อน

และก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดยังมีความสามารถในการกักเก็บความร้อนที่ต่างกัน หรือที่เรียกว่าศักยภาพในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ซึ่งเป็นคุณสมบัติในก๊าซแต่ละชนิดที่มีอยู่ไม่เท่ากัน โดยสามารถคำนวณออกมาได้เป็นปริมาณกิโลกรัมหรือตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ซึ่ง Carbon Footprint จะถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลังงาน กระบวนการผลิต การขนส่ง ไปจนถึงการบริโภค โดยแนวคิดในเรื่อง Carbon Footprint ถูกพัฒนามาจากคอนเซ็ปต์ของ Ecological Footprint ในช่วงต้นทศวรรษ 1990  ซึ่งเป็นการวัดผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ โดยคิดจากปริมาณการบริโภคและปริมาณขยะ แล้วเทียบกับอัตราการฟื้นฟูของระบบนิเวศน์

ปัจจุบันหลายประเทศได้มีการจัดทำ “เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์” เป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่าตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ทั้งเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็เป็นการกระตุ้นให้ฝั่งผู้ผลิตหันมาใช้ Green Technology เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่อาจถูกปล่อยออกมาตลอดกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด

ข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ยังระบุด้วยว่าในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี ได้มีการเรียกร้องให้สินค้าจากไทยติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพิธีสารเกียวโตที่ส่งผลให้องค์กรในทั่วโลกยิ่งให้ความสำคัญกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นเทรนด์โลกในปัจจุบัน

ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ: สภาวะโลกร้อน

สำหรับประเทศไทยเองก็ได้ตั้งเป้าเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 โดยในปี 2019 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภาครัฐจึงต้องมีแผนขับเคลื่อนเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ภาคเอกชนจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับประเทศ

ประเภทของ Carbon Footprint

ประเภทของ Carbon Footprint

หากต้องการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็ต้องทำความรู้จักกับ Carbon Footprint แต่ละประเภทกันก่อน เพราะหากทราบถึงแหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจกจะช่วยให้องค์กรสามารถคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกรวมถึงวางแผนการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงาน ซึ่งโดยทั่วไป Carbon Footprint จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ประกอบไปด้วย

1.Organizational Carbon Footprint

Organizational/Corporate Carbon Footprint จะหมายถึงก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทหรือองค์กรที่ถูกปล่อยออกมาทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาผ่านการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในองค์กร คาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากยานพาหนะหรือจากการเดินทางของคนในองค์กร ไปจนถึงก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากบริการขององค์กร ซึ่งจะคำนวณออกมาในรูปของตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

2.Product Carbon Footprint

Product Carbon Footprint จะหมายรวมถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ในกระบวนการให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การผลิตพลังงาน การใช้งานผลิตภัณฑ์ของลูกค้า การจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน รวมไปถึงการขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ 

นอกจาก Carbon Footprint ทั้งสองประเภทข้างต้นแล้ว ยังมี Individual Carbon Footprint ซึ่งหมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละคน ซึ่งรวมไปถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทาง การใช้พลังงานในครัวเรือน พฤติกรรมการกิน การบริโภคสินค้า และพฤติกรรมการรีไซเคิล

Carbon Footprint สำคัญอย่างไร?

Carbon Footprint สำคัญอย่างไร?

Carbon Footprint สัมพันธ์กับความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมขององค์กร สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่กำลังให้ความสนใจกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG หลายประเทศทั่วโลกเริ่มกำหนดให้ ESG เป็นมาตรฐานและข้อบังคับในการดำเนินงาน ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและมีมาตรการจัดการก๊าซเรือนกระจกจะมีบทบาทมากขึ้น 

ตัวอย่างด้านล่างนี้จะทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าทำไมธุรกิจถึงต้องให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint 

1.ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับองค์กรที่มีการคำนวณปริมาณ Carbon Footprint จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ เพราะจะสามารถทราบได้ว่ากิจกรรมใดขององค์กรที่เป็นต้นตอของการผลิตปริมาณคาร์บอนมากที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อม และยังเป็นประโยชน์ในการวางแผนเพื่อลด Carbon Footprint ภายในองค์กรได้

2.ลดต้นทุนด้านพลังงาน

นอกจากนี้ การวัดปริมาณ Carbon Footprint ยังสามารถช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานลงได้ เนื่องจากปริมาณคาร์บอนส่วนใหญ่มักถูกปล่อยออกมาจากการใช้พลังงานที่มากจนเกินไปและการใช้ยานพาหนะ ซึ่งการใช้พลังงานที่มากเกินความจำเป็นจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเอื้อให้องค์กรสามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

การลงทุนใน Green Technology ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตความร้อนและไฟฟ้าจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานเพราะองค์กรสามารถใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานจากธรรมชาติที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด เช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานลม หรือแม้แต่การหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าก็สามารถช่วยลดต้นทุนและลดปริมาณ Carbon Footprint ขององค์กรจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

3.เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจ

ปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่มักต้องการทราบถึงปริมาณ Carbon Footprint และมาตรการรลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อเป็นปัจจัยประกอบการตัดสินใจลงทุนหรือร่วมเป็นพันธมิตรร่วมกับบริษัทต่าง ๆ  ขณะเดียวกันฝั่งลูกค้าหรือผู้บริโภคก็ได้หันมาให้ความสำคัญกับความมุ่งมั่นขององค์กรในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น

และการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นขึ้นของทุกภาคส่วน จะยิ่งเป็นการสร้างมาตรฐานให้หลายองค์กรจำเป็นจะต้องวางกฎเกณฑ์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังมากขึ้น สำหรับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับมาตรการ Carbon Footprint จะสามารถวางกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มากกว่าเมื่อเทียบกับองค์กรที่ไม่ได้เตรียมการด้านสิ่งแวดล้อม

4.สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความโปร่งใสเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรทุกระดับจำเป็นต้องมี และเมื่อพิจารณาในมิติของสิ่งแวดล้อม องค์กรที่เปิดเผยข้อมูลปริมาณคาร์บอน (Carbon Emission) อย่างตรงไปตรงมาจะเกิดผลดีกับธุรกิจมากกว่า เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมและความมุ่งมั่นในการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีในระยะยาว

5.เตรียมพร้อมรับมือกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม

ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ทั้งโลกเห็นตรงกันว่าต้องมีการจัดการตั้งแต่วันนี้ เพื่อลดผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งยังสามารถสร้างผลกระทบในทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในต่างประเทศได้มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อให้ภาคธุรกิจรับผิดชอบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง 

ในประเทศไทยเองก็มี ร่าง พ.ร.บ. Climate Change ที่ภาคเอกชนต้องเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น จากการประเมิน Carbon Footprint ระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และระบบภาษีคาร์บอน ซึ่งสรุปได้ว่าการคำนวณ Carbon Footprint และการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพื่อเตรียมพร้อมกับกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตนั้นจำเป็นมากสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน

วิธีการลด Carbon Footprint 

วิธีการลด Carbon Footprint

กิจกรรมในชีวิตประจำวันง่าย ๆ อย่างการชาร์จโทรศัพท์มือถือ เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ทิ้งขยะ ใช้น้ำ หรือแม้แต่บริโภคอาหาร ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก หรือในภาคธุรกิจเมื่อเกิดการผลิต การขนส่ง การจัดการขยะ หรือแม้แต่การใช้สารทำความเย็นก็ถือเป็นการสร้าง Carbon Footprint ทั้งนั้น 

แน่นอนว่ามนุษย์ไม่อาจหยุดกิจกรรมเหล่านี้ได้ แต่เพื่อโลกในอนาคตที่ดีขึ้นเราทุกคนจึงควรคำนึงถึงแนวทางการใช้ทรัพยากรที่จะสร้างมลพิษให้กับโลกอย่างน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

  • เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานสูง

ในบรรดาเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องทำน้ำอุ่นไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานงานไฟฟ้ามากที่สุด ตามมาด้วยเตารีดไฟฟ้า และไดร์เป่าผมซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานอยู่ในชีวิตประจำวัน ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งจะช่วยประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น และที่สำคัญยังช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลดภาระค่าใช้จ่ายที่เกินจำเป็นได้ด้วย

  • ใช้น้ำและไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า

สิ่งง่าย ๆ ที่ทำได้ถ้าต้องการเริ่มลดการใช้พลังงงานสิ้นเปลือง คือต้องไม่ลืมถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานทุกครั้ง และอีกหนึ่งเรื่องที่ทำได้ง่ายมากคือปิดน้ำเมื่อแปรงฟัน หรือฟอกสบู่ หรืออาจเริ่มตั้งแต่การออกแบบที่อยู่อาศัยให้สามารถรับแสงธรรมได้มากที่สุดช่วงกลางวันเพื่อลดการใช้ไฟลง พฤติกรรมเหล่านี้แม้จะดูเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ แต่ถ้าหากไม่ได้ใส่ใจก็จะกลายเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่การละเลยในเรื่องอื่น ๆ ได้เช่นกัน

  • เลือกใช้ระบบขนส่งที่ยั่งยืน

ภาคการขนส่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณมากที่สุด การเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะจึงเป็นอีกทางเลือกที่จะรถปริมาณรถยนต์บนท้องถนน และยังช่วยลดปัญหารถติด รวมถึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถยนต์ส่วนตัวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอย่างการเดินทางด้วยจักรยานหรือรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถลดปริมาณ Carbon Footprint จากภาคขนส่งได้

  • ใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน

สำหรับการลด Carbon Footprint ในมุมขององค์กร การเลือกใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ แทนการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ถือเป็นทางเลือกที่องค์กรควรพิจาณาเพราะนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นทางเลือกที่ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

  • ลดการใช้ทรัพยากร

ลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต ด้วยการให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อลดการสร้างขยะ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรเพื่อให้การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรเป็นอย่างยั่งยืน

สรุป

การให้ความสำคัญกับการคำนวณ Carbon Footprint นอกจากจะส่งผลดีที่ช่วยชะลอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และบรรเทาความรุนแรงของปัญหาโลกร้อนที่กำลังหนักขึ้นทุกวัน การติดตาม Carbon Footprint ยังจะเป็นผลดีกับองค์กรที่ต้องการวางแผนงานเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในภาคธุรกิจ และช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันพร้อมดึงดูดการลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจที่เริ่มตื่นตัวเรื่อง Carbon Footprint ตั้งแต่วันนี้จะมีโอกาสมากกว่า เพราะในเวลานี้ทั้งโลกไม่ได้มองประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงคอนเซ็ปต์ลอย ๆ แต่สิ่งที่กำลังจะตามคือกฎระเบียบที่จะบังคับใช้กับภาคธุรกิจ เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ และจะดีกว่าไหมถ้าเริ่มเตรียมการด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วันนี้ เพราะในภาคธุรกิจองค์กรที่พร้อมที่สุดจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนในอนาคต

บทความที่น่าสนใจ