ทำไม Climate Change ถึงสำคัญ? ความจริงที่ทุกคนควรรู้

26 พ.ย. 2567

ทำไม Climate Change ถึงสำคัญ? ความจริงที่ทุกคนควรรู้
ทำไม Climate Change ถึงสำคัญ? ความจริงที่ทุกคนควรรู้
ทำไม Climate Change ถึงสำคัญ? ความจริงที่ทุกคนควรรู้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change เป็นปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่กำลังเป็นสัญญาณเตือนให้เราทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม เพราะสิ่งที่กำลังเกิดไม่ใช่แค่อากาศที่ร้อนขึ้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ พร้อมสร้างความเสียหายให้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บนโลก

บทความนี้จะพาทุกท่านมาร่วมสำรวจประเด็น Climate Change ไปพร้อมกันว่าแท้จริงแล้ว Climate Change คืออะไร และมีโอกาสกระทบกับความเป็นอยู่ของมนุษย์มากน้อยแค่ไหน แล้วอะไรคือสาเหตุของความผิดปกติทางธรรมชาติที่กำลังเป็นภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างในปัจจุบัน

Climate change คืออะไร?

Climate change คืออะไร?

Climate Change หรือที่ภาษาไทยใช้คำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (Average Weather) ในพื้นที่หนึ่ง หรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในระยะยาว ซึ่งอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์หรือการปะทุของภูเขาไฟขนาดมหึมา

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงปี 1800 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลับมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เพราะผลพวงของการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์เป็นต้นตอของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศและกักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ส่งผลให้อุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ซึ่งกระบวนการที่ความร้อนถูกกักเก็บไว้ใกล้พื้นผิวโลกโดยก๊าซเรือนกระจกเช่นนี้ ก็มีชื่อเรียกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก”

ขณะเดียวกันประเด็น Climate Change ยังถือเป็นประเด็นที่ทั้งโลกหันมาให้ความสนใจจนเกิดเป็นความร่วมมือระดับโลกเพื่อร่วมชะลอปัญหาดังกล่าว ผ่านกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่ได้รับการรับรองเมื่อปี 1992 ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก 

ก่อนจะตามมาด้วยการลงนามในข้อตกลงปารีสที่ประเทศสมาชิกมีเป้าหมายสำคัญในการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส พร้อมควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซียลเซียส ขณะที่เป้าหมายของประเทศไทยคือการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030

และจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของไทยพบว่าก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 69.06% โดยแบ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมพลังงาน 40.05% ภาคการขนส่ง 29.16% อุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง 20.24% และอื่นๆ อีก 6.56% รองลงมาคือภาคการเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 15.69% ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็มาจากการเพาะปลูกพืชเกษตรและการทำปศุสัตว์

ขณะที่ก๊าซเรือนกระจกหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนที่มาจากการเผาไหม้ของน้ำมันที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์หรือการเผาไหม้ถ่านหิน เป็นต้น นอกจากนี้การตัดไม้ทำลายป่าก็มีส่วนทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ด้วยเช่นกัน

ผลกระทบของ Climate Change ต่อมนุษย์

ผลกระทบของ Climate Change ต่อมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นผลจากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีรายงานว่าในสัปดาห์เดียวโลกทำลายสถิติวันที่ร้อนที่สุดไปถึงสองครั้ง และปัจจุบันภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกยังต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงเช่นเดียวกัน

และจากข้อมูลการวิเคราะห์ของนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน GISS (Goddard Institute for Space Studies) โดยองค์การ NASA พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยโลกในทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.1 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ปี 1880 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่เกิดขึ้น แม้เพียง 1 องศาเซลเซียสก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะการที่จะทำให้อุณหภูมิของทั้งมหาสมุทร ชั้นบรรยากาศ และผืนดินเพิ่มขึ้นได้ต้องใช้ความร้อนจำนวนมหาศาล

สิ่งที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก คือความสูญเสียจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด และตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) พบว่า ในช่วงปี 2000-2019 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนประมาณ 489,000 รายต่อปี คลื่นความร้อนจึงนับเป็นหนึ่งในภัยธรรมชาติที่เป็นอันตรายกับชีวิตของมนุษย์มากที่สุด ซึ่งยังไม่นับรวมถึงโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสความร้อนในชีวิตประจำวัน และการเกิดขึ้นของภัยธรรมชาติอย่างเช่น พายุ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่มีโอกาสเกิดบ่อยขึ้นและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรง 

นอกจากอุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศยังสามารถสร้างผลกระทบในมิติความมั่นคงทางอาหารได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกระทบกับระบบนิเวศทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเติบโตได้ไม่เต็มที่และเก็บเกี่ยวได้น้อยลง ขณะที่การทำปศุสัตว์ก็จะได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนเช่นเดียวกัน 

ตัวอย่างผลกระทบในภาคการเกษตรเช่น เกษตรกรในประเทศไทยที่ถือเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของโลกแห่งหนึ่ง ต้องประสบกับสถานการณ์ฝนตกมากเกินไป หรือภัยแล้งที่รุนแรงจนทำให้ได้ผลผลิตน้อยกว่าความต้องการ ทั้งยังทำให้ราคาข้าวปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกระทบกับค่าครองชีพของคนในประเทศ

และอีกหนึ่งปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มจะกระทบกับความปลอดภัยในชีวิตของมนุษย์ก็คือการเกิดหลุมอากาศจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยภายในปี 2050 ปริมาณหลุมอากาศมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เห็นได้ว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแค่ทำให้อากาศร้อนขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายกับชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของผลกระทบจาก Climate Change ที่มนุษย์ต้องเผชิญอย่างรุนแรงหากไม่ร่วมกันแก้ไขในเร็ววัน

สาเหตุที่ทำเกิด Climate Change มีอะไรบ้าง?

สาเหตุที่ทำเกิด Climate Change มีอะไรบ้าง?

ตัวการสำคัญที่เป็นต้นตอของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือปรากฏการณ์เรือนกระจกซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ก๊าซบางชนิดในชั้นบรรยากาศจะทำหน้าที่คล้ายเรือนกระจกที่กักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์และป้องกันไม่ให้ความร้อนรั่วไหลกลับไปสู่อวกาศจนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

ขณะที่ก๊าซเรือนกระจกมีบทบาทสำคัญในการรักษาอุณหภูมิของโลกผ่านการดักจับ และรักษาพลังงานความร้อนซึ่งเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์กลับเป็นตัวทำลายสมดุลตามธรรมชาติของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นรวดเร็วจนกลายเป็นผลเสีย และต่อไปนี้คือตัวอย่างของกิจกรรมจากมนุษย์ที่เป็นสาเหตุให้เกิด Climate Change อย่างเช่นในปัจจุบัน

การใช้พลังงานถ่านหิน

ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมหลายประเภท ตั้งแต่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า การถลุงโลหะ การผลิตปูนซีเมนต์ ใช้ในอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรไอน้ำ ไปจนถึงผลิตอาหาร นอกจากนี้ยังสามารถนำมาทำเป็นถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) เพื่อใช้เป็นสารดูดซับกลิ่นในเครื่องกรองน้ำ เครื่องกรองอากาศ หรือเครื่องใช้ต่าง ๆ ตลอดจนนำมาทำคาร์บอนไฟเบอร์สำหรับใช้ทำอุปกรณ์กีฬา เช่น ด้ามไม้กอล์ฟ ไม้แบดมินตัน ไม้เทนนิส อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประโยชน์อยู่มากแต่การเผาไหม้ถ่านหินกลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการทำให้โลกร้อน ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ถ่านหินนั้นคิดเป็นประมาณ 40% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลก

การตัดไม้ทำลายป่า

ป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อผลิตออกซิเจน ขณะที่การตัดไม้ทำลายป่าจะส่งผลให้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกสะสมไว้ถูกปล่อยออกมาในชั้นบรรยากาศ โดยในช่วงปี 2001-2009 ป่าไม้ทั่วโลกทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศรวมกันถึงประมาณ 1.5 หมื่นล้านเมตริกตันต่อปี ขณะที่การตัดไม้ทำลายป่า ไฟป่า และการรุกรานป่าด้วยวิธีการต่าง ๆ นั้นสร้างคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยปีละ 8.1 พันล้านเมตริกตัน การปกป้องป่าไม้จึงมีความสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกวันนี้

การขนส่ง

ภาคการขนส่งนับว่ามีส่วนอย่างมากในการสร้างมลพิษออกสู่โลก โดยคิดเป็นประมาณ 25% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เพราะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการขับเคลื่อนยานพาหนะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถไฟ รถบรรทุก เรือ หรือเครื่องบิน จะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น โดยในภาคการขนส่งของไทยสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น 30% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่นั้นมาจากการขนส่งทางบกหรือยานพาหนะที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน

การจัดการขยะ

การจัดการขยะด้วยการฝังกลบเป็นอีกกิจกรรมที่ส่งผลเสียกับโลก เพราะการสลายตัวของขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร เปลือกผลไม้ ใบไม้ วัชพืช และขยะประเภทกระดาษในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีออกซิเจนจะทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งภาคการจัดการของเสียถือเป็นหนึ่งในสามภาคส่วนหลักที่ปล่อยก๊าซมีเทนมากที่สุด เป็นรองเพียงแค่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ โดยคิดเป็นประมาณ 20% ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดจากกิจกรรมของมนุษย์ในทั่วโลก 

การบริโภคมากเกินความจำเป็น

งานวิจัยในปี 2015 พบว่า การผลิตและการใช้บริการสินค้าในครัวเรือนเป็นตัวการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในโลกมากถึงร้อยละ 60 โดยเฉพาะในประเทศร่ำรวยที่มีการผลิตและใช้จ่ายจำนวนมาก เพราะการบริโภคที่เกินจากความจำเป็นมีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตสินค้าที่จำเป็นต้องเบียดบังทรัพยากรธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการขนส่งไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางบก หรือทางอากาศ ต่างมีส่วนสร้างมลพิษเพิ่มขึ้น และเมื่อสินค้าหรือบริการใดก็ตามได้ถูกผลิตขึ้นมามากเกินความต้องการก็จะกลายเป็นขยะที่ต้องนำไปจัดการต่อไป 

คุณคือส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคต

คุณคือส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคต

จากข้อมูลทั้งหมดคงพอจะทำให้ทุกท่านเห็นภาพรวมของปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตบนโลก ไม่ว่าจะเป็นการเกิดคลื่นความร้อนที่ยาวนานและรุนแรงขึ้นจนเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วยและความอดอยากในหลายพื้นที่ทั่วโลก หรือการเกิดภัยพิบัติอย่างผิดปกติซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินส่วนบุคคลไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศ และผลกระทบอีกมากมายที่อาจเกิดขึ้นตามมาหากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้รับการบรรเทา

สิ่งที่เราทุกคนทำได้จึงเป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำความเข้าใจเรื่องของ Green Technology ที่กำลังเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาให้เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

หรืออาจจะเริ่มต้นด้วยการหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่เป็นมิตรกับโลก ตัวอย่างเช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับใช้ในครัวเรือนเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือก หรือเปลี่ยนจากการเดินทางด้วยรถที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถสาธารณะหรือรถยนต์ไฟฟ้า และยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยการเลือกสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

เพราะหากทุกคนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่เหลืออยู่ ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นโอกาสให้เราทุกคนได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่มีมลพิษน้อยลง ทั้งยังเป็นการลดความเสื่อมโทรมของธรรมชาติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เหลืออยู่ได้อย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหา Climate Change ควรเป็นประเด็นที่ต้องเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้ แม้บางวิธีอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญก็จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ประเด็นที่สามารถมองข้ามได้ ความร่วมมือของทุก ๆ คนบนโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้โลกของเรายั่งยืนมากขึ้น

บทความที่น่าสนใจ