Sustainability เทรนด์สิ่งแวดล้อมที่เป็นก้าวใหม่ของทุกองค์กร
1 ต.ค. 2567
ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อนที่ต้องร่วมกันแก้ไข หนึ่งในเทรนด์สำคัญที่กำลังได้รับความสนใจก็คือ “Sustainability” ซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนต่างเห็นตรงกันว่ามีความจำเป็นในยุคนี้ เพราะไม่มีใครจะสามารถใช้ชีวิตโดยละเลยความเสื่อมโทรมของโลกได้อีกต่อไปแล้ว
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติจะสร้างความเสียหายให้สิ่งมีชีวิตและเศรษฐกิจทั่วโลก เทรนด์ Sustainability จึงเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโลกที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไปบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับคำนิยามของ Sustainability กันให้มากขึ้น พร้อมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนสำหรับองค์กร
Sustainability คืออะไร
Sustainability หรือ ความยั่งยืน ตามความหมายของคณะกรรมาธิการบรันท์แลนด์ (United Nations Brundtland Commission) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาของสหประชาชาติได้ให้คำจำกัดความของความยั่งยืนไว้ว่าเป็นการ “ตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน โดยไม่กระทบกับคนรุ่นต่อไปในการตอบสนองความต้องการของตนเอง”
ขณะที่คำจำกัดความของความยั่งยืนตามกฎบัตรของคณะกรรมการความยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) ระบุว่าความยั่งยืนเป็นการให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกับสุขภาพของมนุษย์ ไปจนถึงความเท่าเทียมทางสังคม และเศรษฐกิจ เพื่อสร้างสังคมที่พร้อมสำหรับคนรุ่นปัจจุบันส่งทอดไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไป
ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเมื่อพูดถึงความยั่งยืน นั่นคือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและคิดถึงผลที่จะตามมาจากการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ขณะเดียวกันโลกเราทุกวันนี้ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการพัฒนาต่าง ๆ ในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อคนรุ่นถัดไป
นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมหลายครั้งเราอาจได้ยินคำว่า Sustainable Development Goals หรือ SDGs ซึ่งก็คือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่จะเป็นกรอบการทำงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนในทั่วโลก รวมถึงบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ และเป็นกรอบการพัฒนาที่ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศ ที่ทุกประเทศต้องดำเนินการร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้ภายในปี 2030
โดยตัวอย่างเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติของสิ่งแวดล้อม เช่น การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน และการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Conference of the Parties (COP) ครั้งที่ 26 ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทั้งโลกร่วมให้ความสำคัญ ธุรกิจิต่าง ๆ จึงควรมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนเพื่อสอดรับกับการทำเดินงานของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทำไม Sustainability ถึงสำคัญในปัจจุบัน
Sustainability หรือความยั่งยืนโดยเฉพาะในมิติของสิ่งแวดล้อมนั้นมีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังประสบกับปัญหาโลกร้อน ความยั่งยืนในมิติของสิ่งแวดล้อมจะช่วยมนุษย์ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรอบคอบ และนึกถึงผลกระทบที่คนรุ่นต่อไปต้องเผชิญ
1.การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก
พฤติกรรมของมนุษย์ทุกวันนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานที่ผลิตจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การผลิตเพื่อบริโภค หรือแม้แต่การเดินทางในชีวิตประจำวัน ซึ่งล้วนก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกปกคลุมโลก และกักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์อันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อน
อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกที่เพิ่มขึ้น แม้จะดูเป็นตัวเลขที่เล็กน้อย แต่กลับหมายถึงความร้อนสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2023 ซึ่งนับเป็นปีที่ร้อนที่สุดโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่อุณหภูมิโลกสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวมากกว่า 1 องศาเซลเซียส
และปริมาณความร้อนของโลกในอนาคตยังขึ้นอยู่กับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่มนุษย์ปล่อยออกมาในปัจจุบัน การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการตัดไม้ทำลายป่าสามารถเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เกินกว่าที่กระบวนการทางธรรมชาติจะกำจัดออกไปได้ จึงทำให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นทุกปี
การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลกจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนอกจากอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นแล้ว ยังเสี่ยงต่อความสูญเสียจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงผิดปกติที่ในทุกวันนี้ก็มีตัวอย่างให้เห็นบ้างแล้ว
2.ทรัพยากรของโลกลดลง
ทรัพยากรของโลกที่ลดลงเป็นสัญญาณเตือนว่ามนุษย์ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยจำนวนประชากรกว่า 8 พันล้านคนบนโลกที่มีความต้องการทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการบริโภคที่มากเกินความจำเป็น ยังไม่รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า และการทำลายระบบนิเวศที่ลดความหลากหลายทางชีวภาพและปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่กระทบกับปริมาณทรัพยากรโลกทั้งสิ้น
ตัวอย่างเช่นทรัพยากรที่ดูเหมือนมีอยู่ปริมาณมหาศาลอย่างทรัพยากรน้ำ ซึ่งโลกของเราประกอบด้วยน้ำมากถึง 70% แต่กลับมีน้ำจืดให้ใช้เพียง 2.5% และส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบน้ำแข็งหรือมีหิมะปกคลุม ทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้คาดการณ์ว่าภายในปี 2025 จะมีประชากรมากถึง 1.8 พันล้านคนที่ขาดแคลนน้ำดื่มในทั่วโลก
ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเช่นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งจัดอยู่ในประเภททรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ในอนาคตก็มีการคาดการณ์ว่าทรัพยากรเหล่านี้จะมีไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกต่างหันมาพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีความยั่งยืน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ทั้งยังเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับโลก
3.เป็นประโยชน์ต่อสิ่งเเวดล้อม
แนวคิด Sustainability จะช่วยให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลกระทบกับโลกน้อยที่สุด โดยทุกภาคส่วนจะหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงคนรุ่นหลังมากขึ้น ภาคเอกชนต่างหันมาดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการจัดการของเสียและลดปริมาณขยะ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะช่วยชะลอความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ภาคประชาชนก็ตระหนักเรื่องความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่อาจมีวันหมดไป และหันมาลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับโลกมากกว่า เพราะมีกรอบแนวคิด Sustainability ที่สนับสนุนให้คนหันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้นถ้าไม่ช่วยกันบรรเทาก่อนจะสายเกินไป
4.ลดต้นทุนในระยะยาว
การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหากมองในมุมขององค์กร เพราะการลดใช้ทรัพยากรและการประหยัดพลังงานจะช่วยลดต้นทุนในด้านค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในระยะยาว ตลอดจนการวางแผนการจัดการขยะในองค์กรต่าง ๆ ยังสามารถช่วยลดต้นทุนในการจัดการขยะในระยะยาว หากมีการวางแผนการจัดการที่ดีตั้งแต่ต้น
ปัจจุบันหลายองค์กรได้มีการลงทุนใน Green Technology ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่นการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน ขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินการจัดการปริมาณคาร์บอนขององค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อสอดคล้องกับแนวผฏิบัติในระดับโลก
5. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร
นอกจากจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในระยะยาวแล้ว องค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่อง Sustainability ยังทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและเป็นภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะองค์กรที่ไม่ละเลยเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวทำให้ได้รับการยอมรับจากสังคม และเป็นที่จับตาของเหล่านักลงทุน
Sustainability ในภาคธุรกิจ
ในภาคธุรกิจ Sustainability จะหมายถึงการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงส่วนร่วมและไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน หรือสังคม โดยทั่วไปเป้าหมายของกลยุทธ์ Sustainable Business มักถูกพูดถึงในมิติของผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันเป้าหมายด้านความยั่งยืนยังมีส่วนขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจได้เช่นกัน
ปัจจุบันนักลงทุนมักใช้ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social, and Governance) เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทางจริยธรรมและแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนขององค์กร ซึ่งนักลงทุนจะพิจารณาปัจจัยอย่างเช่น คาร์บอนฟุตพริ๊นต์ การใช้น้ำ ความพยายามในการพัฒนาสังคม ไปจนถึงความหลากหลายในองค์กร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ปัญหาโลกร้อนเป็นเทรนด์หลักของโลก ธุรกิจที่มีการทำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากเป็นพิเศษ
1.การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด ทั้งจากในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานภายในอาคาร การเดินทางของพนักงาน ซึ่งนำไปสู่การสร้างมลพิษในระดับสูงได้
แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรเพื่อช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มีตั้งแต่การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้โลกร้อนรุนแรงขึ้น และหันมาใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน อย่างเช่น การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์หรือการลงทุนในพลังงานลม รวมไปถึงการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากการดำเนินธุรกิจ โดยจัดทำคาร์บอนฟุตพริ๊นต์ขององค์ เพื่อให้สามารถวางแผนจัดการปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ
2.เศรษฐกิจหมุนเวียน
เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีการวางแผนนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ไม่ว่าจะเป็นการนำไปซ่อมแซม รีไซเคิล หรือวางแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน และลดปริมาณขยะหรือของเสียให้เหลือน้อยที่สุด นับเป็นอีกแนวทางในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม เพราะยิ่งลดปริมาณการผลิตจะยิ่งช่วยลดมลพิษและปริมาณขยะที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรเพียงครั้งเดียว
ตัวอย่างธุรกิจที่ดำเนินงานสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดน ที่ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้สามารถสับเปลี่ยนชิ้นส่วนได้ในกรณีที่มีบางส่วนชำรุด แทนการทิ้งหรือซื้อใหม่ทั้งชิ้น เพื่อลดปริมาณการผลิตที่สิ้นเปลืองพลังงาน นอกจากนี้ IKEA ยังมีนโยบายรับซื้อสินค้าเก่าและนำไปขายต่อ โดยปัจจุบันมีสินค้ากว่า 32 ล้านชิ้นที่ถูกหมุนเวียนขายต่อ และอีกกว่า 10 ล้านชิ้นที่นำมาบรรจุใหม่และวางขายอีกครั้ง
3.การบริหารจัดการขยะและมลพิษ
ขยะในภาคธุรกิจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะและมลพิษเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดข้อกำหนดทางกฎหมาย และผลกระทบต่อชุมชนและสังคม ทั้งยังต้องจัดการกับมลพิษจากการกระบวนดำเนินธุรกิจอย่างเช่น มลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ มลพิษทางเสียง และความสั่นสะเทือน
ทั้งนี้องค์กรสามารถดำเนินการเพื่อจัดการกับขยะและมลพิษจากการดำเนินงานได้ด้วยการลดปริมาณพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในธุรกิจ หรือการใช้เทคโลยีแทนการใช้กระดาษในองค์กร ตลอดจนส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต และปลูกฝังในวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร เพื่อส่งเสริมให้เกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง
4.การบริหารจัดการพลังงาน
การบริหารจัดการพลังงานถือเป็นกระบวนการของภาคธุรกิจในการวางแผนเพื่อควบคุมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนในมิติของสิ่งแวดล้อม ขณะที่การบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพยังช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานสำหรับภาคธุรกิจได้อีกด้วย
โดยจะมีเครื่องมือที่เรียกว่าระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) ที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถติดตามการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้ละเอียดมากขึ้น ทำให้ทราบช่วงเวลาที่ใช้ไฟฟ้าในแต่ละวัน และติดตามการใช้พลังงานไฟฟ้าไปกับอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการการใช้พลังงานในกรณีที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุป
Sustainability เป็นแนวคิดที่ช่วยให้คนกลับมาตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรในปัจจุบันที่สามารถส่งผลกระทบในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ละเลยการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบันหลายประเทศได้มีการออกมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อส่งเสริมแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน อย่างประเทศในสหภาพยุโรปก็เริ่มมีแนวโน้มปรับใช้มาตรการ CBAM เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ จากสินค้านำเข้าที่มาจากประเทศที่มีกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเข้มข้นน้อยกว่า เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาที่เตรียมใช้มาตรการ CBAM เช่นเดียวกัน เพราะเห็นถึงความสำคัญของมาตรการคาร์บอน
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้กระทบเพียงแค่สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นแล้วธุรกิจต่าง ๆ จึงควรหันมาให้ความสำคัญการดำเนินงานอย่างยั่งยืนภายในองค์กรผ่านแนวคิด ESG หรือในบางองค์กรอาจมีการทำ CSR เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
การลงทุนใน Green Technology อย่างเช่นพลังงานหมุนเวียน ระบบจัดการขยะ ยานยนต์ไฟฟ้า ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่องค์กรควรเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่วันนี้ เพราะเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมการเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในทุกองค์กร
บทความที่น่าสนใจ
Sustainability เทรนด์สิ่งแวดล้อมที่เป็นก้าวใหม่ของทุกองค์กร
1 ต.ค. 2567
ไฮโดรเจน: กุญแจสำคัญสู่การเปลี่ยนแปลงพลังงานโลก
17 ก.ย. 2567
เข้าใจพลังงานแสงอาทิตย์ มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ?
3 ก.ย. 2567