SDG เป้าหมายเพื่อโลก สิ่งแวดล้อมและอนาคตของเราที่คุณควรรู้
Oct 29, 2024
ในแต่ละวันที่ชีวิตของหลายคนดำเนินไปอย่างปกติ แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีคนอีกมากที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าที่ควร ตัวเลขของคนกว่า 400 ล้านที่เข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน หรือเด็กอีกกว่า 100 ล้านคนที่ไม่สามารถอ่านเขียนได้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในทั่วโลก
เพื่อแก้ไข้ปัญหาเหล่านี้และนำไปสู่โลกที่ตระหนักถึงปัญหาส่วนร่วม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDGs ได้ถูกกำหนดให้เป็นข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก พร้อมเน้นย้ำถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ
บทความนี้จะพาคุณร่วมสำรวจเป้าหมาย SDGs แต่ละข้อเพื่อทำความเข้าใจความมุ่งมั่นในแต่ละเป้าหมายที่มุ่งแก้ไขปัญหาในมิติที่แตกต่างกัน และร่วมไขคำตอบว่าเหตุใด SDGs จึงเป็นกรอบการพัฒนาที่ทุกคนควรหันมาให้ความสนใจ
ภาพจาก Freepik
SDG คืออะไร
SDGs หรือ Sustainable Development Goals คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นกรอบการพัฒนาครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2016 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2030 โดยจะประกอบไปด้วยเป้าหมายทั้งหมด 17 ประการ (SDG 17) ภายใต้ 3 เสาหลักในมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) อันได้แก่ มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เสริมด้วยมิติด้านสันติภาพและสถาบันและมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนารวมทั้งหมดเป็น 5 มิติ
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นครั้งแรกในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิลซึ่งจัดขึ้นในปี 2012 ภายใต้วัตถุประสงค์ในการสร้างชุดเป้าหมายระดับสากลเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทั้งโลกกำลังเผชิญ
และเป้าหมาย SDGs ได้เข้ามาแทนที่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนระดับโลก ภายใต้กรอบการพัฒนา 8 เป้าหมาย ประกอบไปด้วยเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความอดอยาก ปัญหาโรคภัย และการเข้าไม่ถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็ก ๆ ในทั่วโลก ขจัดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก และส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ตลอดระยะเวลา 15 ปีภายใต้กรอบ MDGs ได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในหลายประเด็นด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ลดความยากจนเชิงรายได้ จัดหาน้ำสะอาดทำหรับผู้ที่ขาดแคลน ลดอัตราการเสียชีวิตในเด็ก และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เป็นแม่ให้ดีขึ้น รวมถึงเป็นแนวทางให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อคนรุ่นหลัง ก่อนจะกลายมาเป็นเป้าหมาย SDGs ที่ถูกพูดถึงในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามเป้าหมาย SDGs ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่เป็นข้อตกลงร่วมกันที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDG 17 เพื่อร่วมกันปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลกให้ดีขึ้นและเป็นไปอย่างยั่งยืน
ภาพจาก Freepik
องค์ประกอบสำคัญของ SDG ทั้ง 17 ข้อ
เป้าหมายที่ 1 : ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่
ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกเกือบ 700 ล้านคนหรือคิดเป็น 8.5 ของประชากรโลกกำลังตกอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง โดยมีรายได้น้อยกว่าวันละ 2.15 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 75 บาท ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งเพิ่มความเปราะบาง ส่งผลให้อัตราความยากจนในประเทศที่มีรายได้ต่ำมีสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโรคระบาด
หนึ่งในตัวอย่างของเป้าประสงค์ (Targets) ภายใต้กรอบ SDGs คือการขจัดความยากจนขั้นรุนแรงให้กับประชาชนทั่วทุกมุมโลกให้ได้ภายในปี 2030 โดยวัดจากจำนวนประชากรที่มีรายได้น้อยกว่า 1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือประมาณ 40 บาท ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ
เป้าหมายที่ 2 : ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
ปัญหาการขาดแคลนอาหารยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาในหลายประเทศ โดยในปี 2017 ผู้คนกว่า 821 ล้านคนมีภาวะขาดสารอาหารเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ภัยแล้ง และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากปัญหาโลกร้อน
ภายใต้กรอบ SDGs ข้อนี้จึงมีเป้าประสงค์เพื่อยุติความหิวโหย และภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบให้ได้ภายในปี 2030 โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ยากไร้ ผู้เปราะบางซึ่งรวมไปถึงเด็กทารกให้สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี
เป้าหมายที่ 3 : สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย
การบรรลุเป้าหมายด้านสุขภาพในระดับโลกยังคงเผชิญกับความท้าทาย โดยมีผู้คนอย่างน้อย 400 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน และอีกร้อยละ 40 ที่ยังขาดการคุ้มครองทางสังคม (Social Protection)
หนึ่งในเป้าประสงค์ในด้านสุขภาพจึงเป็นการยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย พร้อมจัดการกับโรคไวรัสตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ รวมไปถึงโรคติดต่ออื่นๆ
เป้าหมายที่ 4 : สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การศึกษาคือพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ปัจจุบันยังมีเยาวชนกว่า 103 ล้านคนทั่วโลกขาดทักษะในการอ่านเขียนระดับพื้นฐาน และมากกว่าร้อยละ 60 ของเด็กที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาก็คือผู้หญิง
ตัวอย่างเป้าประสงค์ในด้านการศึกษา คือการสร้างหลักประกันว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะหญิงหรือชายจะต้องได้รับการศึกษาที่เข้าถึงได้ฟรีและมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกันทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา ภายในปี 2030 เพื่อผลลัพธ์ทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
เป้าหมายที่ 5 : บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน
ความพยายามในการยุติการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กผู้หญิงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสำคัญต่อการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ปัจจุบันยังคงมีผู้หญิงจำนวนมากที่ต้องเจอกับความรุนแรง รวมไปถึงตัวเลขของจำนวนผู้หญิงและเด็กอีกเกือบ 750 ล้านคน ที่แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี
หนึ่งในเป้าประสงค์ด้านนี้คือการมุ่งขจัดความรุนแรงต่อสตรีและเด็กผู้หญิงทุกคนทุกรูปแบบทั้งที่เกิดขึ้นในสาธารณะและส่วนตัว รวมไปถึงการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น ๆ
เป้าหมายที่ 6 : สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาล ให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้ สำหรับทุกคน
ภาวะขาดแคลนน้ำได้ส่งผลกระทบกับผู้คนทั่วโลกมากกว่าร้อยละ 40 และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามความความรุนแรงด้านสภาพอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ปัจจุบันหลายประเทศกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากปัญหาภัยแล้งที่ยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น
หนึ่งในเป้าประสงค์ที่ต้องบรรลุภายในปี 2030 จึงเป็นการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยการลดมลพิษ กำจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีและวัตถุอันตรายให้เหลือน้อยที่สุด รวมไปถึงการลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดให้ได้ครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างปลอดภัยในทั่วโลก
เป้าหมายที่ 7 : สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
ในการบรรลุเป้าหมายข้อนี้ให้ได้ภายในกรอบปี 2030 จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนในพลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อน และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและทำให้ทุกคนเข้าถึงได้
การเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อให้คนสามารถเข้าถึงพลังงานที่สะอาดจะช่วยสร้างการการเติบโตและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เป้าประสงค์ที่ 7.2 จึงเป็นการมุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการใช้พลังงานทั่วโลก
เป้าหมายที่ 8 : ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน
เป้าหมายการพัฒนาที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มความสามารถการผลิตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการและการสร้างงาน ตัวอย่างเป้าประสงค์เช่นการบรรลุการจ้างงานอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล รวมถึงงานที่หมาะสมสำหรับทั้งหญิงและชายตลอดจนเยาวชนและผู้พิการและค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน
เป้าหมายที่ 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
การลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หนึ่งในเป้าประสงค์ของเป้าหมายนี้จึงเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและยั่งยืน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานระดับภูมิภาคและระดับข้ามพรมแดนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม
เป้าหมายที่ 10 : ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ
ความไม่เท่าเทียมโดยเฉพาะในเรื่องรายได้เป็นปัญหาในหลายประเทศ ช่องว่างรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยและคนจนกำลังเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเป้าประสงค์เพื่อลดความไม่เสมอภาคคือการปรับใช้นโยบาย โดยเฉพาะนโยบายการเงิน ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม ตลอดจนบรรลุความเท่าเทียมให้เพิ่มมากขึ้น
เป้าหมายที่ 11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีความครอบคลุม ปลอดภัย ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
ภายในปี 2050 ประชากรโลกกว่า 6,500 ล้านคน จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง การทำให้เมืองมีความยั่งยืนจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ ภายใต้กรอบ SDGs ภายในปี 2030 ทุกคนควรสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ปลอดภัย และราคาไม่แพง สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐาน ตลอดจนการปรับปรุงชุมชนแออัด
เป้าหมายที่ 12 : สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ในทุก ๆ ปีมีปริมาณอาหารมากถึง 1.3 พันล้านตันที่กลายเป็นขยะ ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนอีกเกือบ 2 พันล้านชีวิตที่ยังต้องประสบกับความหิวโหยและภาวะขาดสารอาหาร หนึ่งในเป้าประสงค์ของเป้าหมายนี้คือการลดปริมาณขยะอาหารต่อหัวในทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งทั้งในระดับผู้ค้าและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่การผลิต รวมไปถึงความพยายามในการลดความเสียหายหลังเก็บเกี่ยว
เป้าหมายที่ 13 : ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
หนึ่งในปัญหาร่วมกันของคนทั้งโลกในปัจจุบันคือปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในแต่ละปีได้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากผลของภัยพิบัติเป็นมูลค่ามหาศาล
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงกลายมาเป็นวาระสำคัญในการพัฒนาอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือการบูรณาการมาตรการเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบาย กลยุทธ์ และการวางแผนงานในระดับชาติเพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันลงมืออย่างจริงจัง
เป้าหมายที่ 14 : อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลและชายฝั่งมีความสำคัญกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ นอกจากนี้มหาสมุทรยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ได้ราว 30% เป้าหมายการพัฒนาข้อที่ 14 จึงมุ่งปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในทะเลอย่างยั่งยืน ผ่านแนวทางการป้องกันและลดมลภาวะทางทะเลทุกประเภท โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนบกที่กระทบกับทะเลให้ได้ภายในปี 2025
เป้าหมายที่ 15 : ปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้การกลายสภาพเป็นทะเลทราย หยุดการเสื่อมโทรมของที่ดินและฟื้นสภาพกลับมาใหม่ และหยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
ตัวอย่างแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายข้อที่ 12 คือการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ หยุดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปกป้องพร้อมป้องกันการสูญพันธุ์ของทุกสปีชีส์ที่ถูกคุกคาม
เป้าหมายที่ 16 : ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม และสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อลดความรุนแรงในทุกรูปแบบพร้อมส่งเสริมหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน หนึ่งในเป้าประสงค์คือการลดความรุนแรงทุกรูปแบบและลดอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องลงอย่างมีนัยสำคัญ
เป้าหมายที่ 17 : เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูสภาพหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
เป้าหมายข้อสุดท้ายมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา หนึ่งในกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาจากหลายแหล่ง ภายใต้ความเชื่อมั่นว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะบรรลุผลได้หากมีความร่วมมือที่แข็งแกร่ง
ความท้าทายของ SDG ในประเทศไทย
ในการบรรลุเป้าหมาย SDGs องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่าบทบาทของภาครัฐมีส่วนสำคัญ ทั้งในกระบวนการวางแผนและดำเนินนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน และการกำหนดเป้าหมายก็มีส่วนสำคัญในการทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าการพัฒนาก้าวหน้าไปมากน้อยแค่ไหน
แต่ความท้าทายสำหรับประเทศส่วนใหญ่คือการนำเป้าหมาย SDGs ไปพัฒนาให้สอดคล้องกันทั้งในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงมิติด้านสันติภาพและสถาบัน และมิติด้านหุ้นส่วนการพัฒนาซึ่งเป็นสิ่งที่ยังทำได้ยาก
และจากภาพรวมสถานการณ์ SDGs ระดับโลก รายงานโดย SDG Move ซึ่งเผยว่าในกรอบเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีเพียงเป้าหมายย่อย 16% ที่สามารถบรรลุได้ภายในกรอบปี 2030 ขณะที่เป้าหมายอีก 84% ยังพบข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถรรลุได้ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 45 จากการจัดอันดับ SDG Index จากทั้งหมด 167 ประเทศ
สำหรับความท้าทายที่หลายประเทศต้องเจอนั่นคือประเด็นเรื่องทรัพยากรทางการเงิน ซึ่งสหประชาชาติประเมินว่าในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030 จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินมากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 174 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งภาครัฐไม่สามารถลงทุนได้เองทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่องค์กรส่วนใหญ่ยังไม่จริงจังเรื่องการบรรลุเป้าหมาย SDGs และใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างชื่อเสียงมากกว่าสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่จำเป็นจะต้องสร้างการรับรู้อย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน พร้อมไปกับการส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันขับเคลื่อนสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs ตลอดจนสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน อย่างเช่นนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้เอื้อต่อการพัฒนาในทุกมิติอย่างสอดคล้องกัน เพื่อที่สุดท้ายจะนำไปสู่แก่นสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักการของสหประชาชาติ นั่นคือการพัฒนาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งจะนำไปสู่โลกและสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต
News
SDG เป้าหมายเพื่อโลก สิ่งแวดล้อมและอนาคตของเราที่คุณควรรู้
Oct 29, 2024
Carbon Footprint คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ ?
Oct 15, 2024
Sustainability เทรนด์สิ่งแวดล้อมที่เป็นก้าวใหม่ของทุกองค์กร
Oct 1, 2024