BCG Model โมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

Dec 10, 2024

BCG Model โมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
BCG Model โมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืน
BCG Model โมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืน

การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว กำลังสร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรที่ถูกใช้อย่างหนัก ทั้งยังสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมในกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร BCG Model หรือโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่จึงเข้ามาเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น

แล้วการพัฒนาที่ยั่งยืนกว่าเดิมจะมีแนวทางอย่างไร บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจ BCG Model ในฐานะโมเดลการพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมไขข้อสงสัยว่า BCG Model เกี่ยวข้องอย่างไรกับเป้าหมาย SDGs และโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ให้กับประเทศได้อย่างไรบ้าง

BCG Model คืออะไร?

BCG Model คืออะไร?

BCG Model คือ โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจพร้อมกันใน 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือเรียกได้ว่าเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีรายละเอียด ดังนี้

Bioeconomy - เศรษฐกิจชีวภาพ คือ ระบบเศรษฐกิจที่จะใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อต่อยอดทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางเกษตรให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเพราะเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตัวอย่างความก้าวหน้าในมิตินี้ ได้แก่ การจัดทำธนาคารชีวภาพ (Biobank) โรงงานผลิตพืช (Plant Factory) และการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture)

Circular Economy - เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ระบบเศรษฐกิจที่มีแนวทางเพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ให้ได้น้อยที่สุด โดยจะเน้นไปที่การหมุนเวียนทรัพยากรต่าง ๆ ให้กลับมาใช้ซ้ำได้มากที่สุดเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร ลดขยะ ทั้งยังช่วยลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน

Green Economy - เศรษฐกิจสีเขียว คือ ระบบเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบกับโลกในระยะยาว จากการเติบโตของจำนวนประชากรส่งผลให้ทรัพยากรบนโลกเสื่อมโทรมและลดน้อยลง การพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งจะทำให้การพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างยั่งยืน ตัวอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีของหน่วยงานรัฐเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานรูปแบบต่าง ๆ แพลตฟอร์มการบริหารจัดการคาร์บอนระบบอัตโนมัติ และปุ๋ยที่ช่วยลดผลกระทบกับดินจากการใช้มากเกินความจำเป็น

โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในระยะแรกจะเน้นให้ความสำคัญใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร 2.อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ 3.อุตสาหกรรมวัสดุ พลังงานและเคมีชีวภาพ และ 4.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนใน GDP ของประเทศถึงร้อยละ 21 และยังสร้างงานให้กับคนในประเทศไปมากกว่า 16.5 ล้านคน

BCG Model จึงเป็นโมเดลเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการพัฒนาที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ของผู้คนและสิ่งแวดล้อม จะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น ขณะเดียวกันคนในประเทศก็จะได้รับโอกาสที่เพิ่มขึ้นพร้อม ๆ ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อบริหารทรัพยากรอย่างยั่งยืน

BCG Model แตกต่างกับ SDG อย่างไร?

ภาพจาก Freepik

BCG Model แตกต่างกับ SDG อย่างไร?

ในช่วงเวลาที่ทั้งโลกต่างให้ความสนใจกับประเด็นสิ่งแวดล้อมจนเกิดเป็นกรอบความร่วมมือหรือแนวทางการพัฒนาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากฝีมือของมนุษย์ 

หนึ่งในความรวมมือระดับโลกที่หลายคนอาจคุ้นเคยนั้นคือ SDGs หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่ให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030 เพื่อร่วมกันปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลกให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สันติภาพและสถาบัน และหุ้นส่วนการพัฒนา โดยไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงนามรับรอง

ขณะที่ BCG Model เป็นแนวทางการพัฒนาของไทยที่สอดคล้องกับกรอบ SDGs อย่างน้อย 5 เป้าหมาย ได้แก่ การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนความหลากหลาย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะเอื้อให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยก้าวหน้าขึ้น เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศบนเวทีโลกด้วยมูลค่าเศรษฐกิจ BCG ที่เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้านบาทในปี 2019 เป็น 4.4 ล้านล้านบาทในปี 2022

การพัฒนาประเทศภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จึงมีความเชื่อมโยงกับกรอบ SDGs ในฐานะโมเดลการพัฒนาซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้หลายประการ โดยเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว

เป้าหมายของ BCG Model

BCG Model จำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อเป็นทิศทางในการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ

เป้าหมายของ BCG Model ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม เราลองมาดูเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ใช้ในการขับเคลื่อน BCG Model ว่าจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง

สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสร้างก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกตัวอย่างในช่วงปี 2022 มนุษย์ทั่วโลกได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ หรือประมาณ 50,000 ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 365 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปีเดียวกัน

และการขับเคลื่อนภายใต้เป้าหมายของ BCG Model ในมิติความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ภายในปี 2030 ประเทศไทยจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-26 เมื่อเทียบจากปี 2005 รวมถึงใช้ทรัพยากรน้อยลง 1 ใน 4 ของปัจจุบัน และเพิ่มพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 3.2 ล้านไร่

เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

สำหรับเป้าหมายของ BCG Model ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย BCG (อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ อุตสาหกรรมวัสดุ พลังงานและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์) เพิ่มขึ้นเป็น 4.4 ล้านล้านบาท จาก 3.4 ล้านล้านบาท ภายในปี 2027

รวมไปถึงเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ตลอดจนเพิ่มรายได้ของเศรษฐกิจฐานรากหรือระบบเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

ในการพัฒนาประเทศให้ที่เน้นสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาอาจเป็นการหลงลืมคนบางกลุ่มจนนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ในสังคม ขณะที่ความเหลื่อมล้ำก็เป็นอุปสรรคกับการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกัน สิ่งสำคัญคือการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเท่าเทียมทางสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เป้าหมาย BCG Model ในด้านนี้จึงเป็นการดำเนินงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้กับคนจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน รวมถึงลดจำนวนผู้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและทุพโภชนาการให้ได้ต่ำกว่าร้อยละ 5 และเพิ่มจำนวนผู้เข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ราคาแพงแม้ในภาวะวิกฤตให้ได้ไม่น้อยกว่า 3 แสนคน ตลอดจนเพิ่มจำนวนชุมชนที่มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20

เพิ่มศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง

การเพิ่มศักยภาพให้คนสามารถพึ่งพาตัวเองได้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาที่มีความยั่งยืน โดยในเป้าในเป้าหมายของโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเตรียมความพร้อมในการพึ่งพาตัวเองของทุกกลุ่มมีทั้ง การเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะให้ได้อย่างต่ำ 1 ล้านคน ในฝั่งธุรกิจก็มีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ BCG จำนวน 1,000 ราย

ขณะที่เป้าหมายการขับเคลื่อนด้านการค้าระหว่างประเทศคือการลดขาดดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีลงที่ประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท รวมถึงลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

แนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model

แนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model

ภาคการเกษตรถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ด้วยตัวเลขประชากรที่อยู่ในภาคการเกษตรกว่า 30 ล้านคน ขณะที่พื้นที่ 46.7% ของทั้งประเทศหรือกว่า 47.73 ล้านไร่ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร และมูลค่า GDP ของภาคการเกษตรในปี 2023 ซึ่งอยู่ที่ 6.9 แสนล้านบาท และที่สำคัญอุตสาหกรรมเกษตรยังถือเป็น 1 ใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในระยะแรก

ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้ไปสู่ 3 สูง ได้แก่ ‘ประสิทธิภาพสูง’ ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผนวกเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ‘มาตรฐานสูง’ ด้วยการมุ่งยกระดับมาตรฐานผลิตผลทางการเกษตรด้วยระบบการผลิตที่ยั่งยืนครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพการผลิต โภชนาการ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม 

และสูงสุดท้าย คือ ‘รายได้สูง’ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้การทำการเกษตรเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง ผ่านการนำเสนอสินค้าเกษตรที่เน้นความพรีเมียมและหลากหลาย รวมถึงกำหนดราคาขายได้ตามคุณภาพของผลผลิต โดยมีตัวชี้วัด 3 ข้อ ได้แก่

 

  1. GDP ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ต่อปี 

  2. รายได้เงินสดสุทธิของครัวเรือนเกษตรเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี 

  3. พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเพิ่มขึ้นเป็น 7 ล้านไร่ ภายในปี 2027

พร้อมแนวทางการพัฒนาภาคการเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ดังนี้

ข้อแรก อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรทางการเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและ ยั่งยืน 

ผ่านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างสมดุล รวมถึงขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน

ข้อสอง ส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ และการผลิตสินค้าเกษตร และบริการมูลค่าสูง

ผ่านการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมส่งเสริมการผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง และรวมไปถึงแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน

ข้อสาม พัฒนาเกษตรกรมืออาชีพและเสริมสร้างความเชี่ยวชาญของบุคลากรภาครัฐ

ด้วยวิธีการเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกร (Smart Farmer) เพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการทางเกษตรสมัยใหม่ และเพิ่มขีดความสามารถให้กับบุคลากรภาครัฐ (Smart Officer) ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ BCG เพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคล

สุดท้าย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก 

ซึ่งจะทำโดยการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจสีเขียว พร้อมให้การสนับสนุนแหล่งเงินทุน พัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมและพัฒนางานวิจัยทางการเกษตร และส่งเสริมการตลาดเชิงรุก ไปจนถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในภาคการเกษตร

โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภาคการเกษตรจะเป็นการใช้ประโยชน์จากความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรของไทยที่มีจุดแข็งคือความหลากหลายทางชีวภาพ และจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากรชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตรเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จัดการกับปริมาณสินค้าเกษตร รวมถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ พร้อมไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดสอดคล้องกับเป้าหมายหลักในด้านสิ่งแวดล้อม

สรุป

โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนโดยเน้นใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าแต่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมลดการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไม่ว่าจะเป็นความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางชีวภาพหรือวัฒนธรรมที่สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม จนเกิดรายได้ การจ้างงาน ตลอดจนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

BCG Model จึงนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสของภาคธุรกิจในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อโอกาสทางธุรกิจที่มากกว่าเดิม ขณะเดียวกันก็ยังช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานจากการขยายตัวของโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นไปพร้อมกับสถานการณ์ที่สิ่งแวดล้อมจะได้รับการใส่ใจเพื่อนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

News